เกี่ยวกับเรา

ที่มาของฟาร์ม

   บุญธิดาฟาร์มตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านแหลม จังหวัด เพชรบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 130 กิโลเมตร เมืองเพชรบุรี หรือเมืองเพชร เป็นเพชรสมชื่อในหลาย ๆ เหตุผล ไม่ว่าจะวัดวาอาราม เส้นทางเดินเล่น ชายหาดที่ขาวสะอาด น้ำไม่มีมลภาวะ หากเทียบกับเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ๆ และด้วยเหตุผลของที่อำเภอบ้านแหลม เป็นแหล่งที่มีน้ำที่มีคุณภาพดี ไม่มีสารเคมีเจือปน เพราะไม่มีอุตสาหกรรมหนักในท้องที่ ทำให้ไม่มีการระบายน้ำอันเป็นพิษต่อ สัตว์น้ำ และทำลายระบบนิเวศน์ เราจึงใช้ที่ดินรวม 43 ไร่ เพื่อทำฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น และมุ่งมั่นในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบ ออแกนิค โดยสมบูรณ์ และภายในเวลา 1 ปีกว่า ๆ ทางฟาร์มก็ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก กรมประมงเรื่องการเลี้ยงสาหร่ายแบบเกษตรอินทรีย์ ด้านประมงในวันที่ 10 มกราคม 2562 นำมาซึ่งความภูมิใจในการผลิตสาหร่ายพวงองุ่นที่มีคุณภาพ และสะอาดสู่ตลาดภายในประเทศ

เราเริ่มมีการเพาะเลี้ยงสาหร่าย โดยใช้เทคนิคการเลี้ยงแบบการใช้กระชังเข้ามาช่วย ทำให้สาหร่ายพวงองุ่นได้รับแสงสม่ำเสมอ (แขวนใต้ผิวน้ำในระดับ 30-50 เซนติเมตร) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมของบ่อของฟาร์ม ที่มีขนาดใหญ่ถึง 26 ไร่ ปัจจุบันเรามีกระชังในการเลี้ยงสาหร่ายทั้งหมด 60  กระชัง และมีแผงในการเลี้ยงสาหร่าย 20 แผง/กระชัง โดยเรามีการวางแผนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่ได้ผลผลิตแบบรายวัน ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเลี้ยงสาหร่ายได้วันละ 200-400 กิโลกรัมต่อวัน

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยง และการทำการตลาด ทำให้เรารู้ว่า “ปริมาณไม่ใช่คำตอบของตลาด” แต่เป็นการที่มีผลผลิตที่สม่ำเสมอ และสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทุกวัน ปัจจุบันเราใช้พื้นที่เพียง 1 ใน 8 ของพื้นที่ของบ่อในการเพาะเลี้ยง ดังนั้นเรายังมีพื้นที่เหลือในการขยับขยายผลผลิต หากเป็นที่ต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม เราได้พยายามฝืนสู้กับธรรมชาติ แต่เราต้องยอมรับว่า ไม่มีใครสามารถชนะธรรมชาติได้ เราเองก็ไม่ได้รับการยกเว้น จากการศึกษา และประสบการณ์จริง ทำให้เราทราบว่าสาหร่ายไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งปี สาหร่ายพวงองุ่นจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม หลังจากเข้าหน้าฝนในเดือนมิถุนายน ทำให้น้ำกร่อย สาหร่ายเสียหาย ไม่คุ้มต่อการเพาะเลี้ยง และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อำเภอบ้านแหลมจะเกิดน้ำท่วมทุกปี เพราะเป็นจุดระบายน้ำจืดจากเขื่อนแก่งกระจาน และจากในตัวเมือง ทำให้น้ำไม่ได้ความเค็มที่เหมาะสม เพราะมีน้ำจืดมาก (น้ำกร่อย) เราจึงไม่มีสาหร่ายพวงองุ่นในการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายถึง 7 เดือนต่อปี เราจึงได้ทำการวิจัยที่จะทำให้มีผลผลิตที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี จึงได้เกิดโครงการวิจัยทำสาหร่ายพวงองุ่นแบบบรรจุขวดซึ่งเราได้ใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่งในการทำวิจัย โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศอย่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขา BioTech และมหาวิทยาลัยราชภัฏ สาขา Food Science รวมถึงนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา และเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการศึกษา ทดลอง และค้นคว้า จนสำเร็จ ได้รับใบรับรองจากองค์กรอาหารและยา และกำลังทำการตลาดในประเทศ และต่างประเทศ

LOCATION IS EVERYTHING

อำเภอบ้านแหลมและใกล้เคียงเป็นแหล่งที่เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

– ไม่มีอุตสาหกรรมหนัก

-คุณภาพน้ำดีปลอดมลพิษสภาพอากาศเอื้ออำนวย

-ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่

-ราคาที่ดินยังไม่สูง

-ชาวบ้านมีการเพาะบ่มการอนุรักษ์ธรรมชาติ

เกี่ยวกับเรา​

ฟาร์มของเราทำเพื่อที่จะนำเกษตรกรมารวมกันเป็นกลุ่มสหกรณ์และทำการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ของเกษตรกรในอำเภอบ้านแหลมซึ่งในปัจจุบันอาจจะยังไม่เกิดขึ้นแต่ทางฟาร์มก็ยังไม่ลดละความพยายามในการก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้นทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพและทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ราคาที่เท่ากันโดยไม่มีการกดราคากันเกิดขึ้น

ช่วงทดลองเลี้ยงสาหร่ายโดยแขวนกับกระชัง

 

บุญธิดาฟาร์ม เริ่มทดลองเลี้ยงสาหร่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 27/12/2016 เป็นช่วงปลายปี ด้วยวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างจากเกษตรกรทั่วไป เพราะเราใช้วิธีผสมผสานข้อดีจากแนวการปลูกที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้ (วิธีเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น) โดยที่เราใช้กระชัง แล้วแขวนสาหร่ายตามช่องว่างของข้อต่อกระชัง โดยเราต้องการทดสอบเรื่อง “แสงที่เหมาะสม” สำหรับการเพาะเลี้ยง โดยเราแขวนแผงสาหร่ายไว้ในระดับตั้งแต่ 10 – 20 – 30 – 40 -50 ไปจนถึง 60 เซนติเมตร โดยมีการติดตามผลเป็นระยะ ๆ

จากตารางจะสามารถชี้ให้เห็นได้ว่า สำหรับบ่อของบุญธิดาฟาร์ม สาหร่ายพวงองุ่นที่เพาะเลี้ยงเหมาะต่อการอยู่ใต้น้ำที่ความเค็มที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับแสงที่เหมาะสม ในช่วง 30 – 50 เซนติเมตร หากแขวนแผงสาหร่ายตื้นกว่านั้น หรือลึกกว่านั้น ส่งผลให้สาหร่ายไม่เจริญเติบโต หรือโตมาอย่างไม่มีคุณภาพ และเราได้ยึดแนวทางเช่นนี้มาตลอด มีบ้างที่เราอาจจะต้องปลดแผงสาหร่ายลงไปต่ำถึง 60-70 เซนติเมตร ในกรณีฝนตก เพื่อให้สาหร่ายยังคงได้อยู่สภาพความเค็มที่เหมาะสม และเร่งระบายชั้นน้ำจืดออก แล้ววัดความเค็มในช่วงปกติ หากความเค็มของน้ำยังอยู่ในช่วง 28-30 ppt หลังจากมีการระบายน้ำจืดออกแล้ว เราจะมีการนำแผงสาหร่ายกลับขึ้นมาอยู่ในระดับตามเกณฑ์ข้างบน เพื่อให้ได้รับแสงตามความเหมาะสมต่อไปจนถึงอายุตามเกณฑ์ที่จะเก็บเกี่ยว

ผลผลิตจากช่วงทดลอง

                                                                                                                                       

-จากผลการทดลองทำให้เราทราบระยะของความลึกที่เหมาะสมสำหรับการแขวน แผงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อ

-ผลของการทดลองทำให้เราทราบระยะเวลาในการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว ซึ่งอยู่ในช่วงของ 35-45 วัน

-เราสามารถวางแผนการผลิต ด้วยการจัดการแขวนประมาณ 20 แผงต่อ 1 กระชังต่อวัน ทำให้เราทราบว่า จากวันที่แขวน เราจะใช้เวลาประมาณ 45 วันในการเก็บเกี่ยวสาหร่ายประมาณ 200 กิโลกรัมต่อวัน

-เราผลิตกระชังทั้งหมด 60 กระชัง และแผงสาหร่ายกว่า 1200 แผง เพื่อสร้างผลผลิตทุกวัน โดยกะเกณฑ์คนในการดูแลสาหร่ายในบ่อ และคนจัดการคัดแยกสาหร่าย

-สาหร่ายที่เก็บได้ หลังจากคัดแยกแล้ว ทำให้เราทราบว่า สาหร่ายที่มีรูปทรงที่สวยงาม น่ารับประทาน สีสันยังเขียวสด จะมีเพียงแค่ 20-30% ของสาหร่ายที่เราได้ต่อวัน นั่นหมายถึงหากเรามีการเก็บสาหร่ายวันละ 1 กระชัง เราจะมีสาหร่ายเพื่อจำหน่ายประมาณไม่เกิน 60 กิโลกรัมต่อวัน หากเราต้องการสาหร่ายมากกว่านั้น เราจะต้องเลี้ยงสาหร่ายวันล่ะ 2 กระชัง เพื่อให้ได้ผลผลิตวันละไม่ต่ำกว่า 400 กิโลกรัม และเราจะได้ผลผลิตหลังคัดแยกแล้ววันละ 120 กิโลกรัม

-ด้วยเจตนาที่ต้องการสร้างรายได้ให้กับเกษตกรรายอื่น ๆ ใกล้เคียง เราสามารถประสานขอซื้อสาหร่าย (ผ่านการตรวจสอบเรื่องการไม่ใช้สารเคมี และวิธีเลี้ยงที่สะอาด) จากพวกเขาได้ หรือเพิ่มกำลังการผลิตด้วยการเพิ่มกระชัง และแผงในการเลี้ยงสาหร่ายที่ฟาร์มเอง

ขั้นตอนต่างๆในการจัดการกับผลผลิตของสาหร่ายพวงองุ่นของบุญธิดาฟาร์ม​

1.สาหร่ายโตพร้อมเก็บเกี่ยว

หลังจากขั้นตอนการเลี้ยง ซึ่งใช้เวลาในช่วง 30-45 วัน แผงแต่ละแผงจะได้สาหร่ายที่มีน้ำหนักประมาณ 10 – 15 กิโลกรัม ช่วงเก็บสาหร่าย จะมีการตัดสาหร่ายเพื่อนำไปคัดแยกอีกที ซึ่งจากสถิติที่เราได้จะอยู่ในช่วงประมาณ 20-30% สูงสุดจากผลผลิตต่อแผง

หลังจากการเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่นจากแผง เราจะนำไปแช่ไว้ในบ่อน้ำที่มีความเค็มใกล้เคียงกับ น้ำในบ่อที่เลี้ยง เป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อให้สาหร่ายคืนสภาพความแข็งแรง ก่อนนำไปคัดแยก

2.กำลังเก็บเกี่ยวสาหร่าย
3.คัดแยกสาหร่าย

เมื่อสาหร่ายพวงองุ่นได้พักฟื้นตัวแล้วประมาณ 1 คืน จะมีการนำสาหร่ายเข้าสู่กระบวนการคัดแยก โดยจะคัดเอาเฉพาะสาหร่ายที่มีรูปทรงที่ดี คัดที่ไม่ได้มาตรฐานออก ซึ่งสาหร่ายที่คัดออกไปนี้มีถึง 70% หรือมากกว่า หากต้องการคัดเป็นพวงจะใช้เวลาและกำลังคนมากกว่า เพราะคน ๆ หนึ่งสามารถคัดเป็นพวง (ไม่มีกิ่งก้าน) ได้วันนึงประมาณ 7-8 กิโลกรัมต่อวัน ด้วยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ค่าคัดแยกสาหร่าย premium จะตกกิโลกรัมละ 40 บาทโดยเฉลี่ย

หลังจากคัดแยกแล้ว พนักงานจะนำสาหร่ายไปพักในบ่อเพื่อให้สาหร่ายฟื้นตัวอีกครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ก่อนนำไปเข้าสู่ระบบ Skimming

4.ทำความสะอาดโดยการ skimming
5.ล้างเอาเศษฝุ่นออกจากสาหร่ายด้วยฟองละเอียด

ถังสำหรับการทำ Skimming มีทั้งหมด 35 ถัง แต่ละถังจะใช้น้ำทะเลที่ผ่านการกรองมาจนใส และผ่านระบบฆ่าเชื้อ เพื่อใช้ล้างสาหร่าย 5 กิโลกรัม/ถัง ด้วยน้ำที่มีความเค็มใกล้เคียงกับน้ำในบ่อที่ 300 ลิตร/ถัง เปิดปั๊มลม ผ่านท่อที่ให้ฟองละเอียด เพื่อตีเอาโปรตีน ทำให้ฝุ่นที่ติดอยู่กับสาหร่ายพวงองุ่นลอยออกมาบนผิวน้ำ และจะมีการจัดการเก็บกวาดฝุ่นเหล่านั้นทุก ๆ 1 ชั่วโมงต่อถัง เป็นเวลาต่อเนื่อง 12 ชั่วโมง แล้วจึงนำสาหร่ายไปพักเพื่อให้สาหร่ายฟื้นตัวอีก 48 ชั่วโมง

6.สาหร่ายเมื่อได้พักฝื้น 48 ชั่วโมง
7.สาหร่ายคัดเพื่อนำเข้าห้อง Lab

เมื่อสาหร่ายรักษาแผลที่เกิดจากการคัดแยก และผ่านการเสียดทานในถัง Skimmer ที่อาจจะทำให้เกิดแผล หลังจากผ่านไป 48-72 ชั่วโมง เราจึงนำสาหร่ายที่ผ่านขั้นตอนทำความสะอาดเข้าสู่ห้อง  Lab เพื่อทำการจัดการฆ่าเชื้อและนำบรรจุใส่ขวด

8.สาหร่ายบรรจุขวดบุญธิดาฟาร์ม

ดำเนินตามรอยพระบาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ​

บุญธิดาฟาร์มได้นำเอาหลักคำสอนแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงร.๙ มาเป็นแบบอย่างในการทำฟาร์มอย่างพอเพียง โดยเกิดประโยชน์แก่ตนเองและเกษตรกรในชุมชนอำเภอบ้านแหลม