วิธีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายแบบโยนลงบ่อ

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยบนเกาะ Fuji มีผลการทดลองว่าวิธีการเลี้ยงแบบโยนลงบ่อ สามารถให้ผลผลิตมากกว่าวิธีอื่น ๆ ถึง 6 เท่า และนั่นก็เป็นแนวทางที่เกษตรกรไทย และเวียดนามใช้เป็นส่วนใหญ่ แต่หากทำความเข้าใจกับตลาดแล้ว จะเข้าใจว่า ปริมาณ ไม่ใช่คำตอบของตลาด แต่ ความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของผลผลิตสาหร่าย น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า เนื่องด้วยวิธีนี้ สาหร่ายจะถูกเลี้ยงอยู่บนดินใต้บ่อ ที่ลึกอยู่ประมาณ 80 – 160 ซม. เกษตรกรจะปล่อยให้สาหร่ายเจริญเติบโตเอง สาหร่ายจะมีการขยายพันธ์โดยการรับแร่ธาตุจากดินและน้ำ ทำให้สาหร่ายพวงองุ่นมีการเจริญเติบโตในอัตราที่รวดเร็ว โดยเฉพาะฤดูกาลที่เหมาะสม และหากมีการถ่ายเทน้ำเพื่อนำแร่ธาตุเข้ามา ยิ่งทำให้สาหร่ายสมบูรณ์ แต่ใช่ว่าวิธีการเลี้ยงแบบนี้จะไม่มีข้อเสียใด ๆ หากมองคร่าว ๆ จากประสบการณ์ของเกษตรกรแล้ว แร่ธาตุที่สาหร่ายดูดซับไป เป็นการยากที่จะหาแร่ธาตุมาทดแทนได้ ต่างจากการปลูกพืชบนบก ที่เราสามารถเติมแร่ธาตุอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมได้ง่าย เช่นการทำปุ๋ยสด ด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว ที่ให้ไนโตรเจนสูง และเมื่อถึงเวลาก็จัดการทำฝังกลบ ให้ดินเพิ่มปริมาณแร่ธาตุ และจึงสามารถปลูกพันธ์ไม้ต่าง ๆ ในฤดูกาลต่อไป แต่น้ำในบ่อที่ติดทะเล เราหาวิธีการเติมแร่ธาตุให้กับดินได้ยาก หากมองการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเป็นรอบ ๆ จะสังเกตุได้ว่า สาหร่ายที่เลี้ยงในรอบแรกจะสมบูรณ์ เม็ดใหญ่ และปริมาณมาก แต่พอเลี้ยงรอบ 2 และ 3 ต่อไปเรื่อย ๆ สาหร่ายจะเริ่มมีคุณภาพด้อยลง เช่นเม็ดเล็ก มีแต่กิ่งก้านไม่มีพวง และสาหร่ายปริมาณน้อยลง และที่สำคัญคือ วิธีการเลี้ยงแบบนี้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า จะมีผลผลิตเมื่อไหร่ วันไหนและปริมาณเท่าไหร่ ในเชิงธุรกิจแล้ว หากไม่สามารถทราบปริมาณหรือประมาณการณ์ได้ว่า จะมีผลผลิตเท่าไหร่ เมื่อไหร่ ก็ย่อมส่งผลต่อการส่งสินค้าที่ไม่ต่อเนื่องและผิดนัดการส่งผลผลิตต่อผู้บริโภค เช่นร้านอาหาร หรือร้านค้า เมื่อมีการผิดนัดสินค้าบ่อย ๆ ก็จะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

บ่อน้ำที่ไว้สำหรับเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
สาหร่ายพวงองุ่นในบ่อ
ช่วงเก็บเกี่ยว

ข้อดี

-การลงทุนต่ำ ใช้แรงงานไม่มาก

-การดูแลน้อยและได้ผลผลิตมาก หากไม่เกิดภาวะเป็นพิษต่อสาหร่าย

-เป็นรายได้เสริมเพราะทำอาชีพอื่นอยู่

ข้อด้อย

-ไม่สามารถควบคุมการผลิต และการเก็บเกี่ยวได้

-ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสม่ำเสมอ

-ขายสินค้าออกในราคาถูกเพราะบ่อยครั้งที่ปริมาณการผลิตมากเกินความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ยอมตัดราคาสินค้า

-มีการใช้แร่ธาตุจากดินเป็นจำนวนมาก เพราะสาหร่ายดูดซับแร่ธาตุเข้าไปเลี้ยงตัวเอง ทำให้ผลผลิตในรอบต่อ ๆ ไป มีคุณภาพด้อยลง และผ่านไป 2-3 ปี บ่อจะไม่สามารถเลี้ยงสาหร่ายได้ตามที่คาดหวัง เพราะแร่ธาตุในดินหมดไป